ส.อ.ท.เตือนส่งออกปีหน้า เจอศึกหนักแน่ ชี้ 5 กลุ่มเสี่ยง สิ่งทอ เครื่องประดับ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า เตรียมจ่อคิวปิดกิจการเพียบ คาดตกงานอีก 7 แสนอัตรา และอาจทะลุถึง 1 ล้านคนในปีหน้า เผยราคาสินค้าเกษตรแนวโน้มจะปรับลดลงต่อเนื่องอีก ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ยางพารา กระทุ้งก้นรัฐบาลชาย หยุดสร้างภาพการเมือง-เร่งแก้ปัญหาโดยด่วน
วันนี้ ( 27 ต.ค.) นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ตามที่เศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นชะลอตัวลง ทำให้การส่งออกสินค้าไทยปีหน้าจะต้องเผชิญการแข่งขันสูงและรุนแรง โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายนี้เป็นต้นไป ผลพวงจากกำลังซื้อประเทศใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ลดลงมาก ทำให้ทุกประเทศที่ส่งออกสินค้าพยายามแข่งขันด้านราคา เนื่องจากคุณภาพสินค้าเป็นที่ทราบอยู่แล้ว
ดังนั้น ภาครัฐควรเอาใจใส่อย่างจริงจัง และตั้งเป้าหมายไว้ในใจว่าเงินบาทต้องอ่อนค่าลงอาจเป็น 5-10% เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เพราะหากสินค้าส่งออกได้ก็จะส่งผลดีต่อประเทศ การจะหาตลาดใหม่ไม่ใช่ทำได้ง่ายต้องใช้เวลา ส่วนการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทำเต็มที่แล้ว ขณะที่ภาครัฐควรออกมาประกาศการประกันเงินฝากให้กับประชาชน แม้สถาบันการเงินไทยจะมีความแข็งแกร่งเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่น ผู้ฝากเงินสบายใจ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในปี 2552 ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงในเรื่องปัญหาแรงงานไทยที่จะมีการตกงานเพิ่มขึ้น จากที่มีการประเมินอย่างคร่าวๆ ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2552 จะมีแรงงานไทยตกงานประมาณ 6-7 แสนคน เบื้องต้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะส่งผลทำให้แรงงานตกงานเพิ่มขึ้นนั้น ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องประดับ อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า การ์เม็ก เป็นต้น
โดยจากการตรวจสอบข้อมูลทั่วประเทศพบว่าบางอุตสาหกรรรม เช่น เสื้อผ้า ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เซรามิก ลดกำลังการผลิตลง 20-30% จากปัญหาคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานในปีหน้าที่คาดว่าจะลดลง 1 ล้านคน รวมทั้งกระทบแรงงานใหม่ที่จะจบการศึกษาเดือนมีนาคมประมาณ 700,000 คน ทำให้หางานทำยากขึ้น
นอกจากนี้ ยังพบปัญหาเงินตึงตัวในต่างจังหวัด เนื่องจากธนาคารไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจที่ไม่มีคำสั่งซื้อ ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก จึงคาดว่าเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกในปี 2552 จะชะลอตามเศรษฐกิจโลกและปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี 2552 อาจจะอยู่ที่ 3.8-4% ส่วนปีนี้คาดว่าจะอยู่ 4.5%
"สาเหตุหลักที่ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวต้องมีการปิดกิจการ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นนาย ทุนรายใหญ่ที่จะลงทุนในประเทศไทย หลังจากที่เกิดวิกฤติสถาบันการเงินของประเทศดังกล่าวเกิดไม่มั่นคง รับสถานการณ์ไม่ไหวจำเป็นต้องล้มละลายตัวไป"
ดังนั้นภาพรวมเศรษฐกิจของไทยจะส่งผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก แต่จะเห็นภาพที่ชัดเจนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 เชื่อว่าปีหน้าอัตราการเติบโตผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี จะไม่ปรับเพิ่มขึ้นกว่าปี 2551 มากนัก หรืออาจแย่ลงได้ เพราะนับตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้เจอปัญหาหลายอย่าง และมีการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง จึงทำให้อัตราการเติบโตของจีดีพีปรับลดลงต่อเนื่อง อยู่ที่ 4.5% ถือว่าอัตราเติบโตไม่ขยับไปมากกว่านี้แล้ว เมื่อเทียบจากภูมิภาคเอเชีย อัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 7%
นายธนิต กล่าวต่อว่า ทิศทางปีหน้า จะมี 3 ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อาทิ 1.ผลกระทบการเงินของโลกที่ชะลอตัวลง 2.สถานการณ์ปัญหาการเมืองที่มีความแตกแยก และไม่มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนภายในประเทศ 3.ปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นต้น ขณะที่ตนเชื่อว่าปัจจัยภายนอกคงไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่เป็นห่วงปัจจัยภายในประเทศมากกว่าที่ลุกลามก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ได้
ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีก 1-2 เรื่องในปีหน้า น่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว มาจากการชะลอตัวการบริโภคของประชาชนเอง และวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง และจะลุกลามไปแถบยุโรปต่อไป ล่าสุดปริมาณนักท่องเที่ยวทั่วโลกปรับลดลงประมาณ 5-10% แต่เมื่อเทียบของประเทศไทยเองปีนี้ปรับลดลงประมาณ 15-20% ถือได้ว่ายอดต่ำสุดในรอบ 20 ปี และคาดว่าปีหน้าน่าจะปรับลดลงอีกแน่ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรแนวโน้มจะปรับลดลงต่อเนื่องอีก ได้แก่ ข้าว แป้ง น้ำตาล ยางพารา เป็นต้น ดังนั้นต้องการให้รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว
สำหรับข้อมูลล่าสุดของตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ว่างงาน 4.5 แสนคนหรือคิดเป็น 1.2% ของกำลังแรงงานทั่วประเทศ โดยกรุงเทพมหานครมีอัตราการว่างงานสูงสุด 1.9% รองลงมาคือภาคกลาง 1.4% ภาคใต้ 1.2% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1% ภาคเหนือ 0.9% ทั้งนี้ตัวเลขว่างงาน 4.5 แสนคน แบ่งเป็นผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 1.9 แสนคน และเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 2.6 แสนคน ประกอบด้วยว่างงานจากภาคการบริการ 1.3 แสนคน ภาคการผลิต 9 หมื่นคน และภาคเกษตรกร 4 หมื่นคน
หากแบ่งเป็นระดับการศึกษาพบว่าระดับอุดมศึกษาว่างงานสูงสุด 1.3 แสนคน รองลงมาเป็นผู้มีการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1.2 แสนคน มัธยมศึกษาตอนต้น 1.1 แสนคน ประถมศึกษา 6 หมื่นคน และผู้ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 3 หมื่นคน
“ปัจจุบันผู้มีงานทำมีจำนวน 37.89 ล้านคน แบ่งเป็น ภาคเกษตรกรรม 15.49 ล้านคน และนอกภาคเกษตรกรรม 22.40 ล้านคน ซึ่งเป็นห่วงภาคการผลิตมีจำนวน 5.54 ล้านคน ลดลง 2.9 แสนคน”
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท. สายงานแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ทาง ส.อ.ท.กำลังรวบรวมข้อมูลจากสมาชิกว่าแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจาก วิกฤติการเงินครั้งนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งล่าสุดบางอุตสาหกรรมต้องปรับตัวด้วยการให้พนักงานหยุดเสาร์-อาทิตย์ และไม่มีค่าล่วงเวลา (โอที) เหมือนที่ผ่านมา เพื่อให้สอดรับกับการผลิตที่ลดลงไป 50-60% และจะเริ่มเห็นชัดในปีหน้า โดยคาดว่าปีหน้าอาจจะต้องมีการปรับลดจำนวนพนักงานลงไม่ต่ำกว่า 5 แสนคน จากจำนวนแรงงานที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 6-7 ล้านคน และหากตลาดหดตัวหนักและมีผลกระทบต่อการส่งออกที่ลดลงก็น่าเป็นห่วงแรงงาน ใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด
"ขณะนี้มีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่แจ้งการส่งออกขยายตัวลดลงในปี 2552 เช่น กลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และเซรามิกที่ยอดส่งออกลดลงไปแล้ว 50% กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ลดไปแล้ว 80% เมื่อเทียบกับต้นปี คงต้องรอดูว่ายอดส่งออกที่ลดลงจะไปหยุดอยู่ที่เท่าไหร่ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่จะได้รับผลกระทบหนัก เพราะขณะนี้เริ่มมีการชะลอการผลิตไปบ้างแล้ว" นายทวีกิจกล่าว
ทั้งนี้ แรงซื้อในช่วงไตรมาส 4 ปกติจะมีมากเพื่อรับเทศกาลปีใหม่ แต่จากการสอบถามห้างสรรพสินค้าต่างๆ พบว่าแรงซื้อช่วงนี้ยังไม่เพิ่มขึ้น โดยยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง แต่ราคาน้ำมันที่ปรับลดลงขณะนี้คาดว่าจะช่วยทำให้แรงซื้อของประชาชนไม่ลดต่ำ ลงไปมากกว่านี้อีก และยังมีส่วนกดดันให้ราคาสินค้าหลายรายการอาจต้องปรับลดราคาลง รวมถึงมีส่วนทำให้เกิดการแข่งขันกันเพื่อแย่งแรงซื้อที่มีอยู่จำกัด
ก่อนหน้านี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) หน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า วิกฤติการเงินโลกที่เกิดขึ้นจะทำให้มีคนตกงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นภายในสิ้นปี 2552 เป็นจำนวนทั้งสิ้นราว 210 ล้านคน นับเป็นอัตราการว่างงานทั่วโลกสูงที่สุดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้ อัตราการว่างงานทั่วโลกดังกล่าวเป็นการรวมเอาตัวเลขคนตกงานในขณะนี้จนถึง สิ้นปีหน้า ซึ่งจะมีจำนวนอย่างน้อยกว่า 20 ล้านคน เอาไว้ด้วย ทำให้อัตรารวมการว่างงานทั่วโลกมีอัตราพุ่งสูงกว่าระดับ 200 ล้านคน เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment