Thursday, October 30, 2008

ศาลสั่งจับตา ทักษิณ โฟนอิน ความจริงวันนี้สัญจร

วันนี้ (31 ต.ค.) แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา นายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา ได้เรียกผู้บริหารสำนักงานศาลยุติธรรม และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้าหารือกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องคำพิพากษา จำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก จะโทรศัพท์จากประเทศอังกฤษผ่านรายการความจริงวันนี้สัญจร (1 พ.ย.) นี้ ซึ่งอาจมีการกล่าวถ้อยความพาดพิงสถาบันศาลในลักษณะดูหมิ่นผู้พิพากษา หรือเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาล จึงให้สำนักงานศาลยุติธรรมเตรียมรวบรวมเนื้อหาคำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อพิจารณาดำเนินการทางกฎหมายฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานในการยุติธรรม หรือดูหมิ่นผู้พิพากษา ตามมาตรา 198 ซึ่งคดีดังกล่าวมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-7 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-1.4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 33 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน

แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวว่า ประธานศาลฎีกาได้แสดงความห่วงใยในกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณออกแถลงการณ์สื่อต่างประเทศโต้แย้งคำพิพากษาขององค์คณะศาลฎีกาฯ ในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ และได้สั่งการให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เผยแพร่คำพิพากษากลาง และคำพิพากษาส่วนตัวขององค์คณะคดีที่ดินทั้ง 9 คนผ่านทางเว็บไซต์ศาลฎีกา www.supremecourt.go.th ให้ประชาชนทั่วไปอ่านเพื่อสร้างความเข้าใจในเหตุผลการตัดสิน โดยเฉพาะคำพิพากษาส่วนตนจะมีทั้งเสียงข้างมากที่ตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ และเสียงข้างน้อยที่ตัดสินยกฟ้องว่าองค์คณะใช้เหตุผลตัดสินอย่างอิสระไม่มี ใครแทรกแซง

“ขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันในหมู่ผู้พิพากษาเกี่ยวกับการออกมาโต้ แย้งคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาฯ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าศาลยุติธรรมต้องปกป้องสถาบันศาลไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจากคำพูดของผู้ ต้องคำพิพากษาจำคุกอย่างไร แต่ศาลไม่มีหน้าที่ลงไปทะเลาะกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้พิพากษาในองค์คณะบางคนเห็นว่า ศาลควรรอให้มีผู้เสียหายซึ่งอาจจะเป็นนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ในคดีที่ดินรัชดาฯ มาร้องให้ศาลพิจารณากรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ละเมิดอำนาจศาลจึงเริ่มดำเนินการน่าจะเหมาะสมกว่า” แหล่งข่าวเผย

ทั้งนี้ แหล่งข่าวคนเดิมยังกล่าวด้วยว่า ประธานศาลฎีกากังวลที่สื่อสารมวลชนนำเสนอข่าวความเห็น หรือการนำถ้อยแถลงของ พ.ต.ท.ทักษิณมาเผยแพร่ เพราะการเผยแพร่ข่าวของสื่ออาจเข้าองค์ประกอบดูหมิ่นผู้พิพากษา หรือละเมิดอำนาจศาลไปด้วย ดังนั้น สื่อควรพิจารณาเนื้อหาและศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนจะตีพิมพ์อะไร รวมทั้งต้องคิดให้มากด้วยว่าสมควรให้ความสำคัญเผยแพร่ข่าวนั้นมากน้อยแค่ไหน เพราะอาจเป็นการเพิ่มช่องทางกระพือความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคม
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

No comments: