นายกฯ แถลงหลังประชุมร่วมผบ.เหล่าทัพ ยันไทยไม่รุกรานกัมพูชา ยึดหลักการเจรจา สันติวิธีแก้ปัญหาชายแดน
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมร่วมกับ ผบ.เหล่าทัพ ที่ท่าอากายานดอนเมืองว่า ประเทศไทยยืนยันจะไม่บุกรุกหรือรุกรานชายแดนของประเทศกัมพูชาเพื่อนบ้าน แต่จะอยู่ในที่ตั้งภายในเขตพื้นที่ประเทศ เพื่อรักษาดินแดนของตัวเอง ส่วนปัญหากระทบกระทั่งตามแนวชายแดน จะยึดหลักการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งด้วยสันติวิธี โดยจะไม่เป็นฝ่ายเปิดฉากใช้กำลังหรืออาวุธก่อนโดยเด็ดขาด
พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเหนิด โฆษกกองทัพบก แถลงหลังการประชุมผบ.เหล่าทัพ กรณีสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ออกมายื่นคำขาดให้ทหารไทยถอนกำลังออกจากพื้นที่ลาดตระเวนใกล้ปราสาทพระวิหาร ว่า กองทัพมีมติไม่ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาท และพร้อมเผชิญหน้ากับกองทัพของกัมพูชา หากถูกรุกรานพื้นที่ก่อน
วันนี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ( ผบ.ทบ. ) ได้เชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมหารือ ณ กองบัญชาการกองทัพบก ประกอบด้วย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว
ด้าน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ยืนยันทหารไทยไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในเขตแดนของกัมพูชา และจะไม่ให้ฝ่ายใดรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ แต่ก็จะไม่เป็นฝ่ายเปิดฉากใช้กำลังโจมตีใครก่อน ตนรู้สึกตกใจต่อท่าทีของนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวทหารไทยได้เข้าไปดูแลเป็นเวลา 20-30 ปีแล้ว แม้ตัวปราสาทเขาพระวิหารจะเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่โดยรอบยังเป็นดินแดนของไทย และกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะทูตานุทูตที่ ประจำประเทศไทย และสหประชาชาติแล้ว
พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 กล่าวว่า ปัญหาชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ในขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไรรุนแรง ยังคงมีความสัมพันธ์อันดีตามแนวนโยบาย โดยเฉพาะในพื้นที่ของกองทัพภาคที่ 1 ในกองกำลังบูรพา ที่ดูแลเขตจังหวัดสระแก้ว ซึ่งหากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ทหารก็มีความพร้อมเตรียมการเรื่องของกองกำลังไว้ป้องกันอยู่แล้ว
นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า รู้สึกประหลาดใจกับถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพราะขัดต่อท่าทีกับการแก้ไขปัญหา ในดับทวิภาคี โดยใช้แนวทางสันติ ซึ่งมีการระบุไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ หากฝ่ายกัมพูชาใช้กำลังในการแก้ปัญหาตามที่ได้มีการยื่นคำขาดไว้ ฝ่ายไทยก็จำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิ์ในการป้องกันตนเองตามกฎบัตรสหประชาชาติ เพื่อปกป้องอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของไทย
ที่มา โพสท์ทูเดย์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment